เอาแบบจากหลักธรรมเป็นคำอธิบายทางวิชาการก่อนเลยนะคะ :)
ตามที่กล่าวมาว่าอยากได้ความรู้ในความหมายธรรมะ
อิสสาเจตสิก
อิจฉา ศัพท์ธรรมะก็คือ อิสสา
อิสสา
คือ
ธรรมชาติที่มีความไม่พอใจในสมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่น
โดยมีสมบัติ (รวมทั้งคุณความดี - deedi) ของผู้อื่นเป็นเหตุใกล้
(ให้เกิดความอิจฉา)
ลักษณะของอิสสา
คือ ริษยาต่อสมบัติของคนอื่น อยากได้สมบัติของผู้อื่น
กิจ (=การงานของอิสสา - deedi)
คือ รู้สึกไม่พอใจ ไม่ยินดี ในสมบัติ ความมั่งมีของผู้อื่น
ผลของอิสสา
คือ เบือนหน้าหนีจากสมบัติของผู้อื่น
เหตุใกล้ให้เกิดอิสสา
คือ สมบัติของผู้อื่น
อธิบายว่า
ที่ชื่อว่า ริษยา (อิสสา) เพราะอรรถว่า เกียดกัน
คือ อดกลั้นต่อสมบัติของคนอื่นไม่ได้ฯ
อิสสานี้ ย่อมเกียดกันคนอื่นไม่ให้ได้ลาภ สักการะ เคารพ นับถือ
และการบูชา เป็นต้น
อิสสานี้ พึงทราบว่าเป็นความเศร้าหมองของจิต
+ + + + + + + + + + + + + + +
ข้างบนที่ค้นคว้าจากหลักธรรมแท้ๆ และนำมารวบรวมไว้ให้
สรุปไว้หมดแล้ว ชัดเจนพอควรแล้ว ว่าอิจฉาหรืออิสสาหรือริษยา คืออะไร
มีอาการอย่างไร เกิดขึ้นเพราะอะไร :)
อิจฉา นี้ เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งของสัตว์โลกที่เป็นปุถุชนทั่วๆ ไป
เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เกิดเพราะมีเหตุปัจจัยดังรวบรวมมาไว้แล้ว
คือ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดี ได้สมบัติ ได้คำเยินยอ ฯลฯ
เมื่อเหตุพร้อม คือ มีผู้ได้สมบัติ ได้ความดีความชอบ ได้ลาภ ได้สรรเสริญ
แล้วเราเข้าไปรู้ อิสสาก็เกิดขึ้น คือ เกิดความอิจฉาขึ้นมา
วิธีการจัดการกับอิสสา
ก่อนจะคิดเรื่องวิธีจัดการกับอิสสา
จะต้องทราบก่อนว่า อิสสา นี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง
เราเข้าไปบังคับไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเราบังคับให้เกิดก็ไม่ได้
ก็ย่อมจะไม่สามารถไปบังคับ
หรือจัดการให้ดับหรือหยุดอิจฉาไปได้อย่างแท้จริง
อย่างดี ถ้าเราจัดการแบบทั่วๆ ไปทำกันก็คือ
เมื่อรู้ตัวว่าอิจฉาแล้วนะ ก็พยายามใช้ปัญญาคิดตริตรอง
หาเหตุผลมาบอกตัวเองว่าอิจฉานั้นไม่ดี
ย้ำเหตุผลฝ่ายดีกับตัวเองเช่นนี้เนืองๆ เมื่ออิสสาเกิด
ก็อาจลดความอิจฉาลงไปได้เป็นครั้งๆ ด้วยปัญญา
อันนี้ก็ดีนะคะ :) อย่างน้อยก็เป็นการฝึกใช้ปัญญา
อย่างน้อยแสดงว่าเรามีหิริโอตตัปปะ
คือมีความละอายต่อบาปในใจ
มีความเกรงกลัวต่อบาปในใจ
(บาปในใจในที่นี้คือละอาย เกรงกลัวที่ใจคิดไม่ดี
คือ คิดอิจฉาริษยา นั่นเอง)
แต่หากถ้าจะให้ตอบวิธีแบบเฉียบขาด
เอาสุดยอดแห่งวิธีทั้งปวง :) มาใช้กันเลย
พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแนะนำไว้เลิศแล้ว :)
ก็ขอแนะนำสุดยอดวิชาที่จะจัดการ
กับความอิจฉาให้ได้เด็ดขาดที่สุด
สามารถฝึกฝนจนทำให้สามารถเบาบางความอิจฉาลงไปตามลำดับ
ตราบจนถึงสามารถตัดความอิจฉาออกไปได้เด็ดขาด
ไม่เกิดอีกเลย :) (แต่ต้องสั่งสมฝึกฝนกันข้ามภพข้ามชาติ)
เราต้องเข้าใจหลักการในการจัดการก่อน
ประการแรก
เมื่อเกิดอิสสา อย่าไปอยากให้เค้าหาย และไม่ต้องคิดยับยั้ง
ความอยากที่จะให้เค้าหายไปหรืออยากจะยับยั้งเค้า
เป็นกิเลสอีกตัวซ้อนเข้ามา ก็จะทำให้เค้า(อิสสา)ยิ่งไม่หายค่ะ
ดังนั้น เมื่อไหร่เกิดอิจฉา ปล่อยให้เค้าเกิดไป
แค่รู้ตัวว่ากำลังอิจฉา ก็ยอดเยี่ยมแล้ว
(คือ ไม่หลงปล่อยให้เกิดอิจฉาไปเป็นนานโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว)
ประการที่สอง
เมื่อรู้ตัวเมื่อไหร่ว่ากำลังอิจฉา ริษยา แล้วนะ
ก็ให้กลับเข้ามามองและสังเกต (ใช้ใจมองและสังเกตไม่ใช่ใช้ตามอง)
คือ มองและสังเกต ว่า เจ้าตัว 'อิสสา' นี่ มีหน้าตาอย่างไร
มีอาการอย่างไร เมื่ออิสสาเกิด กายเราเป็นอย่างไร
หน้าเราเป็นอย่างไร ใจเราเป็นอย่างไร
มองและสังเกตกลับมาที่ใจ
มองอาการของความอิจฉา
มองแบบนักเรียนนักศึกษา
ที่อยากจะรู้จักศึกษาและทำความเข้าใจ
ว่าเจ้าตัว 'อิสสา' มีหน้าตา อาการ รูปร่าง ลักษณะ อย่างไร
ก่อให้เกิดผลอย่างไรต่อกายเรา ใจเรา
การมองนี้ ต้องมองให้ถูกที่นะคะ
คือมองและสังเกตไปที่ตัวเจ้าอิสสา
อาการของเจ้าอิสสาที่กายและใจเรา
ไม่ใช่ มองหรือเพ่งใจไปในเรื่องที่เราอิจฉาอยู่
เพราะนั่นเป็นการมองไปนอกกายนอกใจเรา
ถ้ามองไปข้างนอก เราก็จะไม่รู้จักกายเราใจเราเอง
เสียเวลาเปล่า เสียประโยชน์ และผิดทาง
+ + + + + + + + + + + + + + +
เท่านี้เองค่ะ คือ วิธีการและหน้าที่ของเรา
ในการจัดการกับอิสสาก็ตาม หรืออารมณ์ต่างๆ ทั้งปวง
วิธีนี้ใช้ได้หมดครบถ้วนบริบูรณ์
ช่วยให้ลด-ละและตัดกิเลสแต่ละตัวได้จริงๆ
และได้ถึงที่สุดด้วย (ใช้เวลา ไม่ใช่ทำได้ปุ๊บปั๊บนะคะ
ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป)
ดูเหมือนกับว่าไม่ได้เข้าไปจัดการอะไรที่จะทำให้เค้าหายไป
ดูเหมือนกับว่าไม่ได้เข้าไปยับยั้งอะไรเลย
แต่ทว่าที่จริงแล้ว
ในทางธรรมนั้น 'เรา' ไม่สามารถดับ ยับยั้ง ฆ่า
กิเลสตัวใดตัวหนึ่งได้เลย
สิ่งที่บรรเทา ทุเลา ยับยั้ง ดับและฆ่า กิเลสทั้งปวงทุกตัว
และแต่ละตัวได้นั้น แท้จริงคือ ปัญญา จากการเจริญสติ
วิธีที่แนะมานั้น เป็นวิธีเจริญสติ ซึ่งถ้าลองฝึกไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเครียด
ไม่ต้องเร่งรัด ทำไปเรื่อยๆ สบายๆ แต่ก็ต้องมีความตั้งใจจริง
และมีความเพียรที่จะคอยเฝ้าสังเกตอาการของใจ อาการของกาย
เมื่ออารมณ์นั้นๆ อาทิ เมื่ออิสสา กำลังเกิดอยู่
ในทางธรรมนั้น
เราฆ่ากิเลสไม่ได้ค่ะ ไม่มีทาง
เพราะเหตุว่า เราไม่รู้จักเจ้าตัวกิเลสอย่างแท้จริง
ดังนั้น เราต้องรู้จักกิเลสก่อน เรียนรู้จนเข้าใจรู้จักเขาแจ่มแจ้งก่อน
เราจึงจะประกาศอิสรภาพได้จริง ไม่ต้องตกเป็นทาสของกิเลสตัวนั้นๆ
อีกต่อไป ได้อิสระอย่างแท้จริง :)
เราทำไม่ได้ก็จริง :)
แต่ปัญญาที่เกิดกับเราทำได้... จะทำให้เราฉลาดขึ้นเรื่อยๆ :)
คือ รู้จักเจ้าตัวกิเลสแต่ละตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรู้จัก ก็รู้เท่าทัน
เมื่อรู้เท่าทัน รู้เล่ห์กระเท่ของกิเลสแต่ละตัว
รู้หน้าตา อาการ ท่าทาง ที่มา ที่ไป ของเจ้าอิสสา เป็นต้น
ยิ่งเรารู้จักเค้า(กิเลสตัวนั้นๆ) เท่าไหร่
เราก็จะเหมือนปลดปล่อยตัวเอง
จากความเป็นทาสได้ไปตามลำดับของปัญญาที่เกิด :)
+ + + + + + + + + + + + + + +
สั้นๆ คือ อิสสา นี้แหละ เป็นครูเรา
ดังนั้น อย่าไปกลัว ถ้าเค้าเกิด
เค้าเกิดก็ดีแล้ว เราจะได้ศึกษาให้รู้จักตัวตนจริงๆ ของเค้าเสียที :)
ถ้าเค้าไม่เกิด เราก็ไม่รู้จะไปศึกษาได้อย่างไร
เพราะว่าเราต้องศึกษาที่กายที่ใจเรานี้เอง
ไม่ใช่ที่กายที่ใจคนอื่น
เมื่อเค้าเกิด รีบฉกฉวยเค้ามาเป็นโอกาส
ใช้อกุศลนี่แหละมาสร้างกุศล
คือ ใช้ความอิจฉา มาเป็นเครื่องเจริญสติให้เกิดปัญญา :)
ลองดูนะคะ :)
รับรองว่าถ้าลองทำจริงๆ แล้วจะสนุกและจะติดใจ :)
วิชาของพระพุทธเจ้านี้ ทันสมัย ล้ำยุค สนุกด้วย
ทั้งยังได้ประโยชน์มหาศาล
ทำให้ระงับทุกข์ ระงับกิเลสได้จริง :)
แถมยังพาไปจนถึงสุดทาง
พาไปได้ถึงจุดหมายปลายทางแห่งพระพุทธศาสนา
คือ การพ้นทุกข์ พ้นกิเลสทั้งปวง
ได้จริงๆ ด้วย
เจริญในธรรม
อิจฉา ในความหมายธรรมะ คือจิตที่คิดไม่ดี
ตอบลบเห็นคนอื่นได้ดี ไม่พลอยยินดีกับเค้า กลับอิจฉาและหาทางหักล้างความคิดของเค้าเท่ากับอบรมบ่มอุปนิสัยไปในทางที่ไม่ดี มีอบายเป็นที่สุด
N. jealousy
ตอบลบdef:[การที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดีกว่าตน]
syn:{ความริษยา}
sample:[คนที่มีความอิจฉาในคนอื่นมักจะเป็นคนที่ขาดความเชื่อถือตัวเอง]